ทำไมจึงขี้ลืม


"เดี๋ยวนะ เมื่อกี้วางกุญแจรถไว้ไหนนะ แล้วแฟ้มที่เมื่อสองวันที่แล้วยังอ่านค้างอยู่ล่ะ ไปอยู่ไหนแล้ว ที่สำคัญคืออ่านถึงตรงไหนก็จำไม่ได้เสียด้วยสิ แย่แล้ว ทำอย่างไรดี ทำไมจึงขี้ลืมอย่างนี้" เพื่อนๆ หลายคนอาจจะเคยบ่นในใจในทำนองนี้ว่าตัวเองเป็นคนขี้หลงขี้ลืมเสียจริง แต่อย่ากลุ้มใจมากเกินไปว่าเรามีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า ในบทความนี้จึงจะเล่าให้ฟังถึงเหตุผลของคนขี้ลืมกันค่ะ (แต่ ประเภท ฉันลืมเธอไปแล้ว หรือว่า ทำไมจำกันไม่ได้ถึงความหลังครั้งเก่า อะไรแบบนั้น อาจจะไม่เกี่ยวกันนักนะคะ)

ความจำของเรา

เพื่อนๆ หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับความจำของเรากันมาบ้าง ว่าความจำของเราสามารถแบ่งออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว ความจำระยะยาวนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเอง ว่าเรามีพี่น้องกี่คน พี่น้องของเรามีหน้าตาตอนเด็กๆ อย่างไร เราเคยอาศัยอยู่ที่ไหน บริเวณนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร วิชาการความรู้ต่างๆ ที่เราเล่าเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ให้เราได้ยิน ได้เห็นอยู่ซ้ำกันหลายๆ ครั้ง เราจะจำสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้นานมากและยากที่จะลืมไปได้ง่ายๆ ครั้งใดก็ตามที่มีการสะกิดรื้อฟื้นเรื่องราวขึ้นมา เราก็จะสามารถนึกเรื่องต่างๆ เหล่านั้นออกมาได้เสมอ สิ่งที่คู่กับความจำระยะยาวก็คือความจำระยะสั้น สมองของเราจะจำสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็วไว้ในพื้นที่ส่วนนี้ เช่น ลักษณะของรถแท็กซี่ที่เราเพิ่งขึ้นมา เรื่องของงานที่ยังค้างคา รายการของที่เพื่อนสาวคนอื่นฝากเราให้ซื้อติดมือกลับไปด้วย อาจจะเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปมาตลอดไม่เคยเหมือนกันในแต่ละวัน สมองเราเลยใส่มันไว้ในส่วนที่เก็บความจำแค่ระยะสั้นๆ ก็เป็นได้

การทดลองบางอย่าง

มีหลายทฤษฏีเกี่ยวกับความจำของคนเรา บางอย่างก็กล่าวว่าเราสามารถจำรายละเอียดต่างๆ ของสิ่งที่เป็นความจำระยะสั้นได้ดี ในขณะที่เราจะไม่สามารถจดจำรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ในสมองในส่วนของความจำระยะยาวได้ดีนัก อย่างไรก็ตาม มีการทดลองมากมายที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถจำรายละเอียดสิ่งต่างๆ ที่่น่าจะเป็นความจำระยะยาวได้ดี และดีเอามากๆ ด้วย ในขณะที่เราอาจจะลืมสิ่งที่ควรจะอยู่ในหน่วยความจำระยะสั้นไปเลยแบบนั้นก็มี เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนี้จึงทำให้เกิดความสับสนเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความจำของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าทำไมเราจึงขี้ลืมได้

ความจำของเรา (อีกที)

ในระหว่างการทดลอง ทำให้เราสังเกตว่า หากผู้ถูกทดลองได้เห็นภาพของสิ่งที่ผู้ทำการทดลองได้หยิบยกมาถาม ผู้ถูกทดลองจะสามารถระลึกได้ บอกความแตกต่างได้ บอกได้ว่าใช่หรือไม่ใช่จริงหรือไม่จริง และบอกได้อย่างละเอียดเสียด้วยทั้งๆ ที่น่าจะเป็นสมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาว ในขณะที่หากผู้ถูกทดลองถูกถามเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีการหยิบยกภาพตัวอย่างมาถาม ผู้ถูกทดลองกลับจำไม่ได้เสียอย่างนั้นก็มี

ทำไมจึงขี้ลืม

จากการทดลองต่างๆ นั้นจะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วสมองของเราสามารถจำอะไรได้ดีพอสมควร แต่ปัญหาหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ มันลืมว่าจำไว้ตรงไหน ตอนไหน และเมื่อไรจะต้องนำออกมาใช้ เรียกว่าเก็บได้แต่หาไม่เจอนั่นเอง แต่เมื่อมีอะไรมาสะกิดเตือนความจำเข้า ก็จะสามารถจำได้ นึกความเดิมขึ้นได้นั่นเอง

ในบทความหน้าที่ต่อเนื่องกับเรื่องนี้ เราจะมาดูกันว่าเราจะจัดการกับความขี้ลืมของเราได้อย่างไร จะได้สามารถจำอะไรได้ดีขึ้น ไม่หลงๆ ลืมๆ ติดตามอ่านได้ใน แก้ไขการขี้ลืม ได้เลยค่ะ